บรรยาย online ครั้งที่ 3 - วันที่ 31 มีนาคม 2564
🏀จิต กับ เจตสิกในอภิธรรม: น้ำ กับ คุณสมบัติของน้ำ
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ในคราวได้รับเชิญไปสอนวิชาอภิธรรมแก่นิสิตระดับ ป. โท ณ ประเทศฮังการี)
"ผมชวนนิสิตตั้งคำถามว่า ทำไมคัมภีร์อภิธรรมนำเสนอจิตและเจตสิกของเราทั้งด้านลบ (อกุศล) ด้านบวก (กุศล) และที่น่าสังเกตคือ ทำไมอภิธรรมนำเสนอจิตระดับกามาวจร (sensual sphere) มากเป็นพิเศษ กำลังจะสื่ออะไร เป็นไปได้ไหมว่า สัตว์โลกส่วนใหญ่อยู่ในกามโลก (sensual world) และตลอดช่วงชีวิตของแต่ละคน ส่วนใหญ่เราก็อยู่ในกามโลกนี่เอง และการที่อภิธรรมนำเสนอจิตและเจตสิกของเราทั้งด้านลบและด้านบวก นั่นหมายความว่า จริงอยู่ชีวิตเรามีด้านมืด/ด้านลบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องจนตรอกหรือสิ้นหวัง เพราะเรายังมีด้านสว่าง/ด้านบวกอยู่ควบคู่กัน ตรงนี้ทำให้เรามีความหวังว่า สักวันหนึ่งเราจะสามารถต่อยอดด้านสว่างจนถึงขั้นสว่างที่สุด
ผมอธิบายด้วยภาษาที่ทำให้มองเห็นภาพ (figurative language) ว่า จิต กับ เจตสิก ก็เหมือนน้ำ กับ คุณสมบัติของน้ำ โดยธรรมชาติแล้ว น้ำก็คือน้ำ เราสามารถปรุ่งแต่งน้ำให้มีความหลากหลายได้ ด้วยการเจือสีต่างๆ ลงไป แล้วเรียกว่า น้ำแดงบ้าง น้ำเหลืองบ้าง น้ำดำบ้าง เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ล้วนคือน้ำ ความหลากหลายเกิดจากการปรุงแต่งคุณสมบัติของมันนั่นเอง จิตเราก็เช่นเดียวกัน การที่จิตมีหลากหลายนั้น เกิดจากการปรุงแต่งของคุณมัติคือเจตสิก คุณสมบัติของน้ำไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว สามารถเพิ่มบางอย่างเข้าไปใหม่ได้ และกำจัดบางอย่างออกไปได้ เจตสิกเราก็เช่นเดียวกัน สามารถกำจัดส่วนที่ไม่ดีออกไปได้ และสามารถยกระดับส่วนที่ดีให้สมบูรณ์ได้ ปุถุชนคนสามัญคือตัวอย่างคนที่มีเจตสิกด้านลบอยู่มาก เหมือนน้ำที่มีคุณสมบัติด้านสกปรกอยู่มาก พระอรหันต์คือตัวอย่างคนที่กำจัดเจตสิกด้านลบออกจนหมด ขณะเดียวก็ยกระดับเจตสิกด้านดีจนสมบูรณ์แบบ เหมือนน้ำที่ไม่มีคุณสมบัติด้านสกปรกเหลืออยู่เลย มีแต่ความใสเท่านั้น
Good
ReplyDelete